สั่งจองหนังสือ”ชีพจรแห่งโยคะ” ได้แล้ววันนี้

cover_final050213_2 cover_final050213

ปกหนังสือ “ชีพจรแห่งโยคะ” รวมเล่มบทความชุดชีพจรแห่งโยคะที่เคยตีพิมพ์ใน “กายใจ” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจครับและข้อเขียนเกี่ยวกับโยคะของผม

ขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ก จำนวนหน้า 160 หน้าโดยประมาณ ราคาเล่มละ 180 บาท

สนใจเป็นเจ้าของบอกไว้ใต้โพสต์นี้หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ ittiritp@gmail.com โทร 081-246 7862 (อิท)

พิมพ์จำนวนจำกัดครับ หนังสือจะพิมพ์เสร็จราวๆ ต้นเดือนกุมภาฯ ที่จะถึงนี้ และคาดว่าพร้อมจะจัดส่งได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556

หากสนใจสั่งจะส่งรายละเอียดบัญชีธนาคารสำหรับการโอนเงิน (180 บาทต่อเล่ม ค่าจัดส่งทางไปรษณีย์อีกเล่มละ 20 บาทครับ) ไปให้ทางอีเมลของท่านหรือแจ้งมาทาง inbox หรือหน้าเพจเฟซบุ๊กผมได้โดย add ผมได้ที่ https://www.facebook.com/ittirit

cover_final050213_2

สะพาน…

b1
อาจไม่บ่อยครั้งหรือไม่เคยเลยสักครั้งในชีวิตก็ว่าได้สำหรับใครหลายต่อหลายคนที่จุดหมายปลายทางที่กำลังมุ่งหน้าเดินไปจะคือที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งเราเองไม่แน่ใจนักว่าที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ เป็นจุดหมายหรือเป็นสถาปัตยกรรมกันแน่
เคยไหมครับที่จะเอ่ยปากบอกใครต่อใครว่าเรากำลังมุ่งหน้าเพื่อไปหยุดลงที่ปลายทางซึ่งเป็นเพียง “สะพาน” แห่งใดแห่งหนึ่ง…
หากคุณไม่ใช่ผู้ชายสะพายกล้องที่มีนามว่า “โรเบิร์ค คินเคด” จากวรรณกรรมของ Robert James Waller ที่หลายๆ คนรักในเนื้อหา “The Bridges of Madison County” ซึ่งออกตามล่าถ่ายรูปสะพานโรสแมนในตำบลเมดิสันเคาน์ตี รัฐไอโอวาจนพบเรื่องราวแห่งความรักอันเป็นไปไม่ได้กับแม่บ้านคนหนึ่งเสียแล้วคงยากที่สักครั้งหนึ่งเราจะเคยยึดเอาเรื่องราวของสะพานสักแห่งมาเป็นจุดหมาย
20
วันหนึ่งผมก็ตกลงปลงใจที่จะไป “สังขละบุรี” เมืองชายแดนด้านตะวันตกของจังหวัดกาญจนบุรี ที่ซึ่งเวลาเอ่ยให้ใครต่อใครฟังว่าจะไปที่นั่น เป็นต้องถูกถามว่าจะไปเที่ยวไหนไปดูอะไร ขณะที่บางครั้งคำตอบที่แท้จริงในใจของเราอาจเป็นเพียงการได้ไปใช้เวลาว่างๆ สักสองสามวันที่ไหนก็ได้โดยที่ไม่ต้องมีเรื่องราวอะไรหรือความตั้งใจว่าจะไปเที่ยวที่ไหนหรือไปดูอะไรจริงๆ จังๆ รองรับ
แต่แล้ว “สะพาน” ก็ถูกดึงขึ้นมาเป็นคำตอบบังหน้าสำหรับผม เพราะถ้าหากใครก็ตามที่เป็นนักท่องเที่ยวท่องไทยย่อมจะเคยไปหรือรู้ข้อมูลดีว่าที่สังขละบุรีหรือ “สังขละฯ” นั้นนอกจากจะมีเมืองบาดาล วัดจมน้ำที่สร้างแรงดึงดูดให้สังขละฯ ตามแคมเปญ Unseen Thailand แล้วยังมีสะพานที่ขึ้นชื่ออยู่แห่งหนึ่ง (แน่ล่ะ ผมเองยังไม่เคยไป) ซึ่งสักครั้งหนึ่งในชีวิตผมเองก็นึกอยากจะเดินทางไปให้ถึงอำเภอที่อยู่แสนไกลและมีสะพานไม้แห่งนั้นบ้างเหมือนกัน
เมื่อเวลาและความตั้งใจลงตัวการเดินทางออกจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่สังขละฯ อย่างไม่รีรอก็เริ่มต้นขึ้น หนทางที่ดูเหมือนไม่ห่างไกลเพราะกาญจนบุรีได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดทางภาคตะวันตกที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ แค่เพียงเดินทางชั่วโมงเศษ แต่จากเมืองกาญจน์เข้าสังขละฯ นั้นกลับเป็นเส้นทางที่ยาวไกลและบุกป่าฝ่าเขาข้ามไป เพราะอำเภอปลายสุดของเมืองกาญจน์แห่งนี้อยู่ประชิดชายแดนพม่าด้วยระยะห่างถึงประมาณ 215 กิโลเมตรจากตัวจังหวัดเลยทีเดียว
เส้นทางที่เลี้ยวขวาออกจากทางเข้าอำเภอทองผาภูมิ (ไกลสุดของเมืองกาญจน์ที่ผมเคยไป) อีก 70 กว่ากิโลฯ ก่อนจะถึงตัวอำเภอสังขละฯ นั้นถือว่าเป็นไฮไลต์ของการเดินทางอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะมีธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรสวยงาม ลำน้ำสายเล็กใหญ่ที่มีสะพานแห่งแล้วแห่งเล่าและอ่างเก็บน้ำของเขื่อนเขาแหลมแล้ว การป่ายปีนเส้นทางคดเคี้ยวสูงชันของทางหลวงที่เงียบสงบไม่ค่อยจะมีรถราวิ่งสัญจรก็ทำให้อดที่จะคิดถึงบางห้วงจังหวะของการเดินทางขึ้นเมืองปายของภาคเหนือไม่ได้
บางช่วงขณะที่กำลังเดินทางอยู่นั้นทำให้อดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่าทำไมอำเภอแห่งหนึ่งของจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ถึงได้มาตั้งอยู่ห่างไกลได้เพียงนี้ แต่แล้วคำถามในใจก็มลายหายไปเมื่อเดินทางไปถึงและปรับตัวกลมกลืนเข้ากับบรรยากาศที่เล็กๆ เงียบสงบทั้งกลางวันและกลางคืนในเวลาไม่นาน ทุกสิ่งที่นั่นยังคงเรียบง่าย แต่ก็มีทุกอย่างพร้อมพรั่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าสะดวกซื้อที่เปิดไฟสว่างโร่ให้บริการ 24 ชั่วโมงบนเส้นหน้าตลาดสด ร้านกาแฟที่เปิดเป็นที่พักตรงมุมถนนกลางอำเภอซึ่งให้บริการแบบไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน คิดจะแวะไปกินขนม ของว่างหรือดื่มกาแฟตอนไหนก็ได้ทั้งนั้น
เจ้าของเกสต์เฮาส์เล็กๆ ที่ชื่อ “ไฮกุ” ซึ่งผมไปพักและเปิดร้านกาแฟชื่อ Graph Cafe (ช่างคิดที่ชื่อกราฟที่เขาตั้งนั้นมาจากความคดเคี้ยวขึ้นลงเหมือนเส้นกราฟของถนนมาสู่สังขละฯ) เขียนข้อความไว้บนโปสการ์ดที่เขาทำขายในร้านว่าสิ่งที่สังขละฯ มีก็คือ ความไม่มีอะไร (Nothing)
แต่สะพานไม้แห่งสังขละบุรีหรือที่มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “สะพานอุตตมะนุสรณ์” และการเดินข้ามฟากเพื่อไปชมหมู่บ้านมอญ (บ้านวังกะ) ก็เพียงพอแล้วสำหรับผมจากความไม่มีอะไรของสังขละฯ ในครั้งแรกที่เราได้ทำความรู้จักกัน
สังขละบุรีเป็นอำเภอที่ติดต่อกับชายแดนพม่า ตัวอำเภอตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า “สามประสบ” คือ สถานที่ซึ่งลำน้ำ 3 สายคือ ซองกะเลีย บิคลี่ และรันตี ไหลมาบรรจบกัน เป็นที่มาของแม่น้ำแคว สะพานมอญซึ่งมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าสะพานอุตตมะนุสรณ์นั้นได้ชื่อว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยและยาวเป็นอันดับสองของโลก ด้วยความยาว 850 เมตร สถิติในระดับโลกนี้จะจริงเท็จอย่างไรผมไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่ในความคิดผมซึ่งเคยไปชมสะพานไม้อูเบ็งที่เมืองอมรปุระ มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์มาแล้ว คิดว่าสะพานมอญของเราอาจจะเป็นรองสะพานอูเบ็งแห่งนั้นก็เป็นได้
สะพานมอญที่ใช้เพียงการเดินสัญจรได้เท่านั้นสร้างขึ้นเพื่อใช้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียและเชื่อมการสัญจรจากชุมชนคนมอญที่ฝั่งหนึ่งมาถึงตัวอำเภอสังขละฯ ได้อย่างสะดวกง่ายดายและใกล้กว่าการเดินทางลัดเลาะหลายกิโลเมตรด้วยเส้นทางถนน
จากการเป็นจุดชมวิวเวิ้งน้ำทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณ์อันกว้างไกล บรรยากาศของสายน้ำอันเงียบสงบและงดงามทั้งในยามเช้าตรู่และก่อนตะวันจะลาลับ ทิวเขาทอดยาวอยู่ลิบๆ เรือนแพและวิถีชีวิตชาวบ้านริมแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ทำให้สะพานมอญแห่งนี้กลายเป็นมากกว่าสถาปัตยกรรมหรือเส้นทางสัญจรที่ผู้คนท้องถิ่นใช้เดินทางไปมาหาสู่ ทำธุระ แต่กลายเป็นจุดสนใจและจุดหมายปลายทางของใครต่อใครที่มุ่งหน้าเข้าไปถึงอำเภอชายแดนแห่งนี้ ซึ่งผมเองก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนที่ว่านั้น
ในความที่ว่าสังขละฯ เล็กๆ ไม่มีอะไรนั้นเองที่ผมได้ยินเสียงรำพันตั้งคำถามเหนือสายน้ำของตัวเองว่าเพราะอะไรหรือเหตุใดกัน สะพานเพื่อการสัญจรจึงได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทำให้คนรู้จักและดั้นด้นอยากจะมา เหตุใดกันความหมายและความสำคัญของหน้าที่เพื่อสัญจรของสะพาน (ไม้) จึงลดน้อย ถูกมองข้าม หรือหายไป…

กระท่อมว่างเปล่า วิหารเดียวดาย

กระท่อม

เป็นการยากที่เราจะใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังเดียวดายได้อย่างมีสติและอย่างรู้คุณค่าในความเดียวดายนั้น จากความรีบเร่งของชีวิต ความสับสนของวิถีในโลกยุคใหญ่ที่เป็นอยู่ อาจพูดได้ว่านอกจากโอกาสของการอยู่ตามลำพังจะหาได้ยากแล้ว การที่จะมีใครสักคนหนึ่งนิยมชมชอบการใช้เวลาอยู่คนเดียวโดยไม่คบค้าสมาคมกับใครบ้างบางเวลาก็ยิ่งหาได้ยากกว่า
ในระหว่างเส้นทางที่พาเราออกไปสู่นอกเมืองห่างไกล ภาพจากสองข้างทางที่เคยประสบและนำพาความรู้สึกสบายอกสบายใจยามได้เห็นบางครั้งก็คือภาพของกระท่อมหลังเล็กๆ ซึ่งอาจเป็นเรือนพักหลบแดดฝนของคนทำไร่นา อาจเป็นเพียงกระท่อมที่มีโครงสร้างเรียบง่าย สร้างจากไม้ไม่กี่ชิ้น ฝาและพื้นปูด้วยไม้ไผ่สาน มุงหญ้าแฝก ไร้ราคาค่างวดสูงส่ง แต่กระท่อมน้อยหลังที่เคยพบเห็นซึ่งตั้งอยู่อย่างเดียวดายกลางทุ่งนา ตามไหล่เขานาขั้นบันไดหรือชายป่า ในทิวทัศน์อันโล่งกว้างเป็นธรรมชาตินั้นต่างหากที่กลับสร้างความรู้สึกสบายตาสบายใจ สมถะเรียบง่าย ไม่ต้องการอะไรมากนักในชีวิตให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น
การใช้ชีวิตไล่กวดสิ่งต่างๆ อย่างไม่สิ้นสุด เพื่อสนองความต้องการภายนอกและความรู้สึกอันไม่สิ้นสุดในใจของคนเรา บางครั้งดูเหมือนกับว่าเรากำลังใช้โมงยามทั้งหมดที่มีในชีวิตสลักเสลาลวดลายวิจิตรให้กับวิหารใหญ่โตเกินกำลัง กว่าจะได้เสาแต่ละต้นให้สูงตระหง่านเพื่อค้ำยันความรู้สึกภายในตัวเองให้สูงส่งกว่าคนอื่นๆ กว่าจะได้รูปทรงของวิหารให้ใหญ่โตโอ่อ่าอัครฐาน แต่แล้วผู้ที่ใช้เวลาเพื่อสะสม สร้างทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินตัวก็อาจจะหมดแรง ล้มฟุบ ซุกตัวอยู่ภายในเงาของสิ่งที่ตัวเองสร้างโดยที่ไม่ทันได้รู้สึกในความยิ่งใหญ่ของวิหารที่ทุ่มเทเรี่ยวแรงและวันเวลาลงไป
ช่างน่าสนใจว่าชีวิตที่ดูเหมือนว่าประกอบด้วยหลายสิ่งหลายอย่างมากมาย ทั้งสุขภาพ ความสมบูรณ์พร้อมทางหน้าตา ชื่อเสียง ความสำเร็จและเงินทอง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจก่อเกิดความเป็นสุข ความสมหวัง ความทุกข์ ดิ้นรนทุรนทุรายหรืออยากได้ใคร่มีให้แก่คนเราได้อย่างไม่สิ้นสุด และเมื่อคนเราชอบที่จะใช้การเปรียบเทียบในความสุขความทุกข์ที่เราเองมีอยู่กับผู้อื่นด้วยการบอกว่าวิหารในตัวเรานั้นมีขนาดใหญ่โตแค่ไหน มีห้องหับมากกว่า หรือมีทรัพย์สมบัติที่ครอบครองอยู่มากกว่าวิหารของคนอื่นและที่แข่งขันกันอยู่ด้วยแล้ว ในชีวิตก็แทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้หันกลับมามองว่าภายในวิหารแห่งชีวิตที่ได้เอาความสุข วันเวลา การเสียสละหลายสิ่งอย่างในชีวิตเข้าแลกให้ได้มานั้น มีผู้อื่นหลงเหลือเพื่อร่วมสุขร่วมทุกข์ในร่มเงาอันยิ่งใหญ่แห่งนั้นหรือไม่
หากเราไม่มุ่งเน้นการสะสมและยึดครอง ใช้เวลาไปในการสร้างวิหารเพื่ออยู่อย่างเดียวดาย แต่พยายามที่จะมองเห็นความสุขจากพื้นฐานชีวิตที่เรียบง่าย เป็นสุขได้จากตัวเรา จากภายในที่เต็มพร้อมในตัวเองซึ่งเกิดจากการมองเห็นความทุกข์ให้ชัด และเห็นว่าแท้จริงแล้วสุขและทุกข์เป็นเงาของกันและกัน จิตใจของเราอาจไม่แตกต่างจากไม้ไผ่สานที่ขึ้นรูปเป็นฝาผนัง ขื่อคานและชานเรือนของกระท่อมน้อยมุงหญ้าแฝก ซึ่งแม้จะเผชิญกับความแปรเปลี่ยนผุพังอย่างง่ายดาย จากการตั้งอยู่กลางทิวทัศน์อันโล่งกว้างท้าทายแดดฝน และแม้จะทั้งกระท่อมหลังเล็กๆ หลังนั้นจะบรรจุไว้เพียงห้องว่างเปล่าโล่งๆ ได้เพียงห้องเดียว
แต่ก็อาจพร้อมที่จะเป็นเรือนชานให้ใครต่อใครเข้าไปหลบแดดหลบฝนได้ หรือให้สายตาของผู้ที่เหนื่อยล้าจากการสะสมสร้างวิหารของตัวเองได้หย่อนพักลงกับภาพอันเรียบง่ายแม้เพียงครู่หนึ่ง
(ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=50118)

วิถีจักรยาน Path of bike

Path of bike#10: Finally we had ride on Bangkok Car Free Day 2012.

“วิถีจักรยาน-10” : แล้วก็ไปปั่นในวันปลอดรถปีนี้ หลังจากนำภาพและเรื่องราวอันมี “จักรยาน” พาหนะสองล้อซึ่งมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับคนเราและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดมาฝาก ผมก็ได้ไปปั่นกับขบวนจักรยานที่ไปรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูป ร.5 ตั้งแต่เช้าวันนี้จนปั่นกลับบ้านตอนบ่ายของวัน รู้สึกดีมากๆ ครับ ไม่เหนื่อยเลย และยืนยันว่าการปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ นาทีนี้ยังเป็นไปได้ และให้รอยยิ้มแก่เราได้เสมอ

🙂

Path of bike#9: Preeda’s bike

“วิถีจักรยาน-9″ :จักรยานยี่ห้อ”ปรีดา” จากการดูรายการแฟนพันธุ์แท้ ตอนจักรยานเสือหมอบเมื่อคืนนี้ ทำให้ได้รู้ว่าครั้งหนึ่งเมืองไทยเคยมีจักรยาน(เสือหมอบ)ยี่ห้อ “Preeda” (ปรีดา) ตามชื่อของนักกีฬาปั่นจักรยานทีมชาติผู้เคยเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1964 คือคุณปรีดา จุลละมณฑลซึ่งล่วงลับไปแล้ว (ภาพผมเซฟมาจากเว็บไซต์) 

Path of bike#8: duty of bike: I just took my mini bike called Koko to go to local fresh market nearby my home happily 🙂

“วิถีจักรยาน-8” : การงานของจักรยาน (คันจ้อย) สำหรับเย็นนี้คือการปั่นเป็นเพื่อนผมไปแบกขนข้าวปลาอาหารสดมาจากตลาดเล็กๆ แถวบ้าน สนุก เหน็ดเหนื่อยแต่ได้อรรถรสดีครับกับการควบจักรยานไปจ่ายตลาด ได้รสชาติดีกว่าการไปเดินเข็นรถช้อปเอาจากซูเปอร์สโตร์เป็นไหนๆ 

Path of bike#7 : “more than just a bike”
“วิถีจักรยาน -7” :  เป็นได้มากกว่า
เก็บเอามาฝากจากเว็บไซต์นี้ครับhttp://www.banidea.com/eco-bike-home-travel/ “รถจักรยานบ้าน สุดยอดการออกแบบ Eco Bike Home ออกแบบโดย KEVIN CYR
เชื่อว่า หลายท่านคงเคยได้เห็นการออกแบบรถบ้านหรูหรามาหลายคัน รถที่ออกแบบมาเพื่อการเดินทางไกล พักได้ทุกที่ที่ต้องการ แต่นั่นอาจเป็นความใฝ่ฝันที่ยากจะเอื้อมถึง เพราะต้องใช้ปัจจัยด้านการเงินสูงมากกว่าจะได้มา แต่สำหรับวันนี้ “บ้านไอเดีย” นำไอเดียในการออกแบบรถบ้านที่ทั้งประหยัดต้นทุน ประหยัดพลังงาน ด้วยการออกแบบร่วมกับรถจักรยาน ต่อเติมพ่วงท้าย ออกแบบให้มีห้องนอน ห้องเก็บสัมภาระภายใน และสามารถเดินทางได้จริง

รถจักรยานเก่าที่แปรเปลี่ยนสถานะเป็นบ้านหลังใหม่ ด้วยการใช้วัสดุไม้เหลือใช้ นำมาประกอบต่อเติมกันด้วยหัวใจของนักรักการออกแบบ ภายในเป็นห้องนอนขนาดเล็ก สามารถนอนได้จริง เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่หลงรักการเดินทางอย่างเป็นอิสรภาพ ทั้งประหยัดต้นทุน ประหยัดค่าใช้จ่าย และที่สำคัญ ประหยัดพลังงาน ไอเดียนี้อาจทำให้ความฝันเป็นจริงได้ง่ายยิ่งขึ้น”
Path of bike#6: Keep Moving: “Life is like roding a bicycle.To keep your balance,you must keep moving.”
“วิถีจักรยาน-6″ คำคมจากปรมาจารย์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งผู้คนที่รักวิทยาศาสตร์และรักจักรยานคงพอจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วครับ…”การใช้ชีวิตก็เหมือนกับการปั่นจักรยาน ถ้าอยากจะทรงตัวให้ได้ก็ต้องทะยานไปข้างหน้าเรื่อยๆ” (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ที่ผมเซฟมาให้ชมด้วยนะครับ)
Path of bike#5: Roadless travel
“วิถีจักรยาน5” : (ถนน) เท่าไหร่ถึงจะพอ…ตอนเย็นที่ผ่านมา ผมเดินกางร่มข้ามสะพานลอยตรงหมอชิตมีโอกาสได้เห็นลานจอดรถยนต์กว้างสุดหูสุดตากับจำนวนรถยนต์นับพันคัน คำถามที่ไม่มีคำตอบ “ถนนกว้างเท่าไหร่ ยาวอีกกี่สายถึงจะพอ”… ตั้งแต่มีนโยบายบ้องตื้นสนับสนุนให้คนออก”รถคันแรก” แว่วว่ารถติดมากขึ้นกับจำนวนประชากรรถยนต์ในกรุงเทพฯ ที่พุ่งขึ้นเป็นเจ็ดล้านคัน! นโยบายและการเอาจริงจากภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จักรยาน ปรับปรุงบริการขนส่งมวลชนให้ดีขึ้นและเพียงพอเท่านั้นที่จะเป็นทางออกปัญหาจราจรและสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่
Path of bike#4 : use a bike not just only wish for.
“วิถีจักรยาน” – 4 : “จักรยาน…ภาวนา” ผมเก็บภาพนี้มาจากแยกภาวนาบนถนนลาดพร้าวเมื่อสายๆ วันนี้ ขณะที่เดินไปทำธุระที่ธนาคาร แม้จะอยู่บนถนนลาดพร้าวซึ่งยวดยานจอแจและเป็นถนนที่ขึ้นชื่อว่ารถติดมากที่สุดสายหนึ่งของกรุงเทพฯ ตามตรอกซอกซอยบนถนนลาดพร้าวก็ยังมีจักรยานจอดล็อคเอาไว้รอเจ้าของแทบจะทุกปากซอย หรือวันดีคืนดีก็ได้เห็นคนปั่นจักรยานบนถนนเส้นนี้อย่างเริงร่าเอาชนะรถติดไปอย่างชื่นมื่น นี่เองเป็นเสน่ห์และอารมณ์ดีที่คนใช้จักยานพึงจะได้รับ แม้จะว่าต้องเสี่ยงกับการถูกเบียดถูกแซง หรือหาพื้นที่น้อยนิดบนถนนเพื่อใช้จักรยานได้ยากเย็น แต่ประสาผู้ใช้จักรยานเท่านั้นที่จะรู้ดีว่าเราไม่กลัวรถติดและไม่อารมณ์เสียเพราะรถติด…
วิถีจักรยาน3- “ลงมือปั่นเพื่อเปลี่ยน” หลายวันก่อนภรรยาผมคว้าจักรยานคันเล็ก (ที่เราเรียกว่า “โกโก้”) ปั่นออกไปทำงานแถวๆบ้าน เพราะสถานที่จะไปนั้นใกล้เกินกว่าจะใช้รถยนต์ แต่ก็ไกลกว่าการเดินสบายๆ “จักรยาน”จึงเป็นทางเลือกทางออกที่พอเหมาะพอดี แม้ว่าจะต้องยกจักรยานขึ้นสะพานลอยข้ามถนนไปด้วยก็ตาม ในกรณีนี้บ่งบอกว่าขอเพียงเราหาโอกาสและให้โอกาสในการใช้จักรยาน การเดิน หรือการใช้รถขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัวทีละเล็กทีละน้อยและช่วยๆกัน แค่นี้ก็น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีร่วมกัน 🙂
วิถีจักรยาน2- “จักรยาน…แรงบันดาลใจ”
ช่วงนี้ถ้าหากสังเกตให้ดีจะพบว่ามีร้านกาแฟ (คาเฟ่) ร้านอาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “จักรยาน” เกิดขึ้นหลายแห่งโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะแม้ว่าจะยังไม่มี “เลนจักรยาน” บังคับใช้หรือเกิ
ดขึ้นจริงๆ หรือยังไม่มีผู้คนในเมืองหลวงนำเอาจักรยานออกมาใช้เพื่อประชดรถที่ติด ถนนที่เบียดเสียดแออัดด้วยยวดยานที่บริโภคน้ำมันก็ตาม แต่เราในฐานะผู้มีจักรยานเป็นแรงบันดาลใจก็ยังสามารถไปแลกเปลี่ยนกันหรือสัมผัสแง่มุมที่น่าชุ่มชื่นใจของคนรักจักรยานได้ตามร้านคาเฟ่เหล่านี้…และได้แต่หวังว่าในวันหนึ่งข้างหน้าพลังของสองล้อและสองขาจะนำพาท้องถนนและสังคมไปสู่สังคมที่รักและใช้จักรยานกันจริงๆ จังๆ มากขึ้น
วิถีจักรยาน1- UBM: Urban Bike Messenger ที่มิลาน ประเทศอิตาลี จากนิตยสารโมโนเคิล ฉบับเดือน ก.ค./ส.ค.2555 ที่ผ่านมา พวกเขาคือผู้ให้บริการรับส่งเอกสารและพัสดุบนอานจักรยานนั่นเอง

เรียนโยคะที่อินเดีย หวนกลับคืนสู่รากเหง้า

          อินเดียนั้นเป็นต้นทางหรือถิ่นกำเนิดศาสตร์เก่าแก่อย่างโยคะ และอาจกล่าวได้ว่าหนึ่งในคุณูปการหนึ่งที่สังคมอินเดียได้สร้างสรรค์เอาไว้ ก็คือการให้กำเนิด “ปรัชญาโยคะ” เพื่อการหลุดพ้นและจิตใจที่สงบสุข พ้นจากความทุกข์

            เมื่อศาสตร์โยคะได้รับการยอมรับมากขึ้นและแพร่ขยายไปทั่วโลกทุกวันนี้ การสืบสานศาสตร์โยคะเพื่อการเรียนรู้เรื่องราวของโยคะในระดับที่ลึกลงไป หรือเรียนเพื่อเป็น “ครูโยคะ” เกิดขึ้นทุกหย่อมย่านทั้งในประเทศไทยและทุกๆ มุมโลก แต่ถึงกระนั้นหลายๆ คนก็ยังมีความปรารถนาที่จะได้เดินทางกลับไปค้นหารากเหง้าแห่งโยคะด้วยการไปร่ำเรียนโยคะถึงถิ่นอินเดีย

“อินเดียมีอะไรดี” และทำไมจะต้องไปเรียน “โยคะ” ไกลถึงที่นั่น การเดินทางไปอินเดียด้วยตัวเองจะทำได้อย่างไร และจะตัดสินใจไปเรียนที่ไหนดี คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ที่กำลังให้ความสนใจในการไปเรียนโยคะที่อินเดีย…

           อรุโณทัยเสวนาครั้งที่ 2 โดย “อรุโณทัย” สื่อโยคะออนไลน์ในประเด็น “ศิษย์อินเดีย” ชักชวนผู้คนที่สนใจโยคะมานั่งลงเสวนากันในข้อกังขาเหล่านี้ โดยนำประสบการณ์ในการเดินทางไปเรียนโยคะที่ประเทศอินเดียมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน กิจกรรมเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2555 ณ Soul Space yoga Studio & art gallery

ประเด็นหลักที่นำมาสู่การจัดเสวนาดังกล่าวก็คือ ความน่าสนใจที่จะไปเรียนโยคะที่อินเดียอยู่ที่จุดใดบ้าง และที่มาของการตัดสินใจเลือกที่จะไปเรียนที่โยคะยังสถาบันหรืออาศรมโยคะแห่งใดแห่งหนึ่งของแต่ละคนนั้นมีอะไรเป็นแรงบันดาลใจทำให้ตัดสินใจ เลือกอย่างไรว่าจะไปเรียนโยคะที่ไหนดี รายละเอียดของคอร์สการเรียนเป็นเช่นไร การเดินทางและบรรยากาศการเรียนที่เกิดขึ้นจริงมีรายละเอียดอย่างไร และที่สำคัญก็คือ “อินเดีย” ให้อะไรและได้รับอะไรจากการเดินทางไปเรียนโยคะกลับมาจากอินเดีย

          วิทยากรหลักที่มานำสนทนาแลกเปลี่ยนใน “อรุโณทัยเสวนา” ครั้งนี้ประกอบด้วยคุณสุทธิดา พิพิธภักดี ซึ่งไปเรียนโยคะมาจากสถาบันไกวัลยธรรมโยคะ (Kaivalyadhama Yoga Institute)เมืองโลนาฟลา (Lonavla) คุณจักรกริช  พวงแก้ว จาก Bihar Yoga Bharati,Munger รัฐพิหาร คุณเอกชัย สถาพรธนพัฒน์ จากโยคะวิทยากูรูกุล (Yoga Vidya Gurukul) เมืองนาสิก และคุณอิทธิฤทธิ์ ประคำทอง จากอาศรมศิวนันทะ (Sivananda Vedanta Dhawantari Ashram) เนยาร์แดม เมืองตริวันดรัม รัฐเกรละ

คุณสุทธิดาเริ่มเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ 6 สัปดาห์ในการไปเรียนโยคะที่ Kaivalyadhama Yoga Institute ตั้งอยู่ในเมืองโลนาฟลา ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ระหว่างปูเน่และเมืองมุมไบว่า เลือกไปเรียนจากคำแนะนำของครูโยคะหลังจากที่เริ่มฝึกโยคะอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ เนื่องจากทฤษฎีวิชาการของสถาบันนี้ที่ละเอียด แม้ว่าภาคปฏิบัติจะอ่อนมากเมื่อเทียบกับสถาบันอื่นๆ แต่การพยายามนำเอาหลักวิทยาศาสตร์มาทำความเข้าใจประโยชน์ของโยคะเป็นจุดเด่นของสถาบันนี้
“หลังจากฝึกในสตูดิโอได้ปีกว่าๆ ตอนนั้นรู้สึกว่าอยากหาความรู้เกี่ยวกับโยคะให้ลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะประโยชน์ของการฝึกที่มีต่อสุขภาพร่างกายของเราจึงตัดสินใจไปเรียนที่นี่ โชคดีที่มีเพื่อนผู้หญิงเดินทางไปด้วยทำให้ไม่ต้องศึกษาข้อมูลหรือเตรียมตัวด้วยตัวเองมากนัก

          “ถึงแม้ระหว่างเรียนช่วง 6 สัปดาห์นั้นจะรู้สึกว่าหนักหนาพอสมควรเพราะเรียนหลายวิชาและใช้เวลาเต็มวัน แถมต้องกลับไปอ่านหนังสือเตรียมสอบ เรียกได้ว่าเข้มข้นมาก ส่วนของหลักสูตรก็ถือว่าครบถ้วน เป็นที่น่าพอใจ วิชาที่จัดมาให้เรียน หลากหลายและครอบคลุมแทบทุกด้านของโยคะ”

คุณสุทธิดาสรุปว่า ชอบและดีใจที่ตัดสินใจดั้นด้นไปเรียนหลักสูตรนี้ถึงอินเดีย
เพราะนอกจากความรู้ที่ได้กลับมา ยังได้รู้จักครูบาอาจารย์ที่ดำเนินชีวิตตามวิถีโยคะ รู้จักเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจเดียวกัน แล้วก็ได้ฝึกวินัยตัวเอง ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมาก

ส่วนคุณจักรกริชและคุณเอกชัย สองชายหนุ่มนั้นให้ความสนใจไปเรียนโยคะที่อินเดียเพื่อต่อยอดความสนใจและประสบการณ์ในการฝึกโยคะที่มีอยู่ โดยคุณเอกชัยนั้นเรียนจบหลักสูตรครูโยคะของสถาบันโยคะวิชาการก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่ออินเดีย ขณะที่คุณจักรกริชนั้นหลังจากฝึกโยคะในสตูดิโอที่เมืองไทยก็เลือกที่จะไปใช้เวลาเรียนคอร์สที่ใช้เวลานานถึง 4 เดือนในคอร์สชื่อ Course in Yogic Studies ที่เมืองพิหาร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนโยคะเก่าแก่และเป็นที่รู้จักดีแห่งหนึ่ง

ปัญหาและอุปสรรคตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่เรียนโยคะที่อินเดียของคุณจักรกริชคือการที่จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ของทางโรงเรียนซึ่งเป็นกิจกรรมที่จริงจังและเข้มข้นมาก จนทำให้เกิดแรงต่อต้านขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและให้อะไรกับชีวิตมาก ได้รู้จักกับ “Seva Yoga” ซึ่งเป็นกิจกรรมการทำงานเพื่อสังคมหรือ “กรรมโยคะ” (Karma Yoga) แม้คอร์สที่ได้เรียนจะไม่เรียกว่าเป็นหลักสูตรครูโยคะก็ตาม เนื่องจากสถาบันนี้เปิดหลักสูตรในระดับปริญญาตรี

สำหรับคุณเอกชัยนั้นเมื่อเลือกที่จะไปเรียนที่โยคะวิทยากูรูกุลก็ได้ติดต่อไปยังโรงเรียนผ่านทางเว็บไซต์เพื่อจองที่เรียนล่วงหน้า ซึ่งเกือบไม่ได้ เนื่องจากสถาบันนี้เองก็ได้รับความนิยมมาก

“ที่นี่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีการสอนและทำกิจกรรมทางสังคมเกี่ยวกับโยคะ รุ่นผมมีคนเรียนประมาณ 20 กว่าคนทั้งหมดเป็นผู้ชาย เพียง 4 คน ทุกคนอาศัยอยู่ในห้องเดียวกันและภายในบรรยากาศของที่เรียน ซึ่งเป็นชนบท ตั้งอยู่บนภูเขา ส่วนหลักสูตรการเรียนสำหรับผมไม่ค่อยยากเท่าไรนัก เพราะมีความคุ้นเคยกับหลักสูตรและวิชาที่เรียน ซึ่งต้นแบบมาจากสถาบันไกวัลยธรรม และโยคะวิชาการเมืองไทยก็ได้เอามาใช้ด้วย การใช้ชีวิตในการเรียนต้องปรับตัวให้เข้ากับคนที่มาเรียนจากทั่วโลก” คุณเอกชัยให้ข้อมูล

สำหรับการเดินทางไปอยู่ในอาศรมโยคะที่อินเดียใต้เพื่อเรียนหลักสูตรครูโยคะ (Teacher Training Course – TTC) เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มของคุณอิทธิฤทธิ์ ต้องใช้การเตรียมตัวในการหาข้อมูล ศึกษาข้อมูลหลักสูตรล่วงหน้า และที่สำคัญคือการเตรียมภาษาอังกฤษทั้งการพูดและเขียน ซึ่งเป็นภาษาที่จะต้องใช้ในการเรียนให้พร้อมที่สุด

คุณอิทธิฤทธิ์เล่าอีกว่า “ในการใช้ชีวิตที่อาศรมเต็มไปด้วยกฎระเบียบตั้งแต่ตื่นเช้าตอนตีห้าไปจนถึงก่อนเข้านอนตอนห้าทุ่ม ทุกเช้าและเย็นมีการนั่งสมาธิร่วมกันและฟังโอวาสจากครูเรียกว่าการเข้าสัทสัง (Satsang)แต่ละวันมีการฝึกอาสนะเช้าสองชั่วโมงและเย็นอีกสองชั่วโมง ระหว่างวันมีการเรียนสวดมนต์เป็นภาษาสันสกฤต เรียนคัมภีร์ภควัตคีตา และทำกิจกรรมสำหรับส่วนรวมให้กับอาศรมวันละหนึ่งชั่วโมงเรียกว่ากรรมโยคะ แต่ละวันอาหารที่รับประทานเป็นอาหารมังสวิรัติอินเดียเพียงสองเวลาเท่านั้น”

………………………………..

            อินเดียอาจจะไม่ใช่แค่เพียงจุดหมายที่มีโรงเรียนโยคะตั้งอยู่ หรือเป็นปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักเดินทางทั่วไป แต่ยังเป็นบทพิสูจน์สำหรับคนรักโยคะ ว่าต้องการเรียนรู้ให้ลึกขึ้นเพื่อค้นพบจิตวิญญาณด้านในที่ลึกขึ้นของตัวเอง ท่ามกลางจิตวิญญาณแห่งโยคะที่แทรกอยู่ในอณูชีวิตของถิ่นภารตะ ซึ่งรอท่าให้ค้นหาอยู่หรือไม่

ปลายทางสำคัญที่ใจ

“ชัมบาลา” เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องล่าสุดที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปชมก่อนชาวบ้านชาวช่องธรรมดาซึ่งจะต้องตีตั๋วเข้าไปชมเมื่อหนังเข้าฉายแล้ว (พูดให้สั้นๆ ก็คือไปดูรอบเปิดตัวหรือรอบสื่อฯ นั่นเอง) เรื่องก่อนหน้านี้ที่ได้ไปดูก็คือภาพยนตร์เนื่องจากวาระครบรอบ 7 ปีของค่าย GTH เรื่อง “รัก 7 ปีดี 7 หน”

แต่ชัมบาลาเป็นเรื่องหนึ่งครับที่ตั้งตารอคอย สาเหตุหลักๆ มาจากสองสามประเด็นคือ หนึ่ง- หนังเรื่องนี้ถ่ายทำในทิเบต ซึ่งเป็นดินแดนที่มีเสน่ห์และน่าสนใจ สอง- ชื่อเรื่องนั้นผมคลัลคล้ายคลับคลาว่าจะมาจากชื่อหนังสือทิเบตเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความกล้าหาญของนักรบ (ชัมบาลา : หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบโดย “เชอเกียม ตรุงปะ”) สาเหตุสุดท้ายเป็นการประชันบทบาทของนักแสดงชายสองคนที่ไม่ค่อยจะเคยเห็นหรือคาดคิดว่าเขาทั้งคู่จะมาแสดงหนังชื่อแปลกๆ นี้ร่วมกัน

“ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์”  รับบทเป็นวุฒิ น้องชายของ “ทิน” (อนันดา เอเวอริงแฮม) ผมยอมรับว่าการแคสติ้งและการเลือกชายหนุ่มสองคนนี้มารับบทพี่น้องกันนั้นถือเป็นจุดเด่นที่สอดคล้องกันดีนับแต่เรื่องของบท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลิก รูปร่างหน้าตาหรือแม้แต่เสน่ห์ดึงดูดใจผู้ชมให้เข้าไปชมคนทั้งคู่ปะทะบทบาทกันใน “ชัมบาลา”

ชัมบาลาเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของคนรักสองคู่ (คู่ของวุฒิผู้น้องและทินผู้พี่) มาคาบเกี่ยวกับความรักที่ไม่ค่อยจะใกล้ชิดหรือดูเหมือนจะรักกันสักเท่าไรของพี่ชายและน้องชาย หลังจากมีเรื่องราวเปลี่ยนแปลงในชีวิตของทิน ที่ทำให้เขาทำตัวแปลกแยกออกไปจากครอบครัว จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อวุฒิตัดสินใจที่จะเดินทางไปยังดินแดนที่ชื่อว่า “ชัมบาลา” ตามความต้องการของแฟนสาวที่กำลังป่วย ซึ่งต้องการให้เขาเดินทางย้อนรอยการเดินทางไปทิเบตคนเดียวก่อนหน้าที่จะเจ็บป่วยลง และการเดินทางครั้งนี้ของวุฒิก็บังเอิญที่ได้พี่ชายที่ไม่ค่อยสนิมท ซ้ำยังชอบดื่มเหล้าและสบถไม่เว้นแต่ละคำอย่างทินไปเป็นเพื่อนร่วมทางด้วย

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือการถ่ายทำในทิเบต ภาพฉากหลังของหนังที่เป็นทุ่งหญ้ากว้างสุดลูกหูลูกตา และขุนเขาสูงตระหง่านชนิดที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็นมาก่อน ฉากหิมะตกส่งปอยหิมะปลิวว่อนดูเหน็บหนาว ตัว “Yak” หรือจามรีถูกต้อนเดินเรียงรายเต็มท้องทุ่ง ภาพธงมนต์หลากสีปลิวไสวต่างบทสวดมนต์…ภาพเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นไฮไลต์อย่างหนึ่งที่ทำให้ “ชัมบาลา” เป็นเหมือนหนังที่พอจะมีแต้มต่อตรงการดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้ติดตาม

ขณะเดียวกันการเดินทางของพี่น้องต่างบุคลิกและต่างคนต่างมีปมของชีวิตไปบนเส้นทางแปลกหน้าร่วมกันในรถโฟร์วีลส์คันเดียว โดยมี “ตาว่า” ไกด์ชาวทิเบตและงคนขับรถเป็นเหมือนกรรมการห้ามมวยและสักขีพยานถึงความขัดแย้แตกต่างของคนทั้งคู่ ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นหนังประเภท Road Movie ได้ดีและไม่ค่อยจะพบเห็นได้ง่ายนักในหนังไทย (เช่น “หนีตามกาลิเลโอ” เป็นต้น)

สิ่งที่ดูไม่สนุกนักกับเป็นความพยายามอันขาดๆ เกินๆ ที่จะไม่เล่าในรายละเอียดของบางสิ่ง หรือการตั้งใจเล่าหรือใส่เหตุการณ์เข้ามาให้ดูเป็นความบังเอิญ เพื่อที่จะพาผู้ชมไปยังปลายทางนั่นคือเหตุการณ์อันคลี่คลายที่ทำให้ตัวละครสำนึกผิดในเรื่องราวที่ผ่านมาของชีวิต เพื่อที่จะบอกเล่าว่า “ชัมบาลา” ของแต่ละคนนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นภูเขาสูงตระหง่านทัดเทียมเมฆที่อยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งในทิเบต (ซึ่งผมค่อนข้างแน่ใจว่าผู้เขียนบทชื่อนี้กำหนดขึ้นเอง) แต่เป็นจุดใดก็ได้ที่เรายอมยกความหนักอกหนักใจที่กัดกินใจของเราออกไป ด้วยการสำนึกผิดและยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ประเด็นและเหตุการณ์ที่ค่อนข้างหนักที่ผู้เขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ (เป็นคนคนเดียวกัน) ต้องการถ่ายทอดนั้นค่อนข้างหนักหน่วงและจริงจัง ถึงขนาดซีเรียสเลยก็ว่าได้ แต่กลับพยายามนำเสนอให้เบาลงผ่านแคแรกเตอร์แปลกๆ ที่ดูไม่ค่อยจะเนียนของ “ทิน” (ผู้ซึ่งกินเหล้าขณะอยู่ทิเบตได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่ปวดหัวหรือเป็นอะไรไปเสียก่อน) และความเป็นหนังที่มีเรื่องราวพัฒนาไปตามการเดินทางและการเติบโตของตัวละครแบบโรด มูฟวี่ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามาเป็นสมการที่ไม่ค่อยจะลงตัวนักและทำให้หนัง “ชัมบาลา” มีความครึ่งๆ กลางๆ ของหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกไม่สุด ไม่อินในความเป็นไปของตัวละครและเนื้อหา…

‘ศิษย์อินเดีย’ อรุโณทัยเสวนาครั้งที่2

ผมเพิ่งเตรียมรายละเอียดของกิจกรรมเสวนาวงเล็กๆ โดยมีโยคะเป็นประเด็นหลักที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดขึ้นนานๆ ครั้งเรียกว่า “อรุโณทัยเสวนา” เสร็จ การเสวนาครั้งนี้ตั้งชื่อไว้ว่า “ศิษย์อินเดีย” และเป็นครั้งที่ 2 แล้วสำหรับการจัดอรุโณทัยเสวนา ซึ่งเป็นการชักชวนผู้ที่สนใจและฝึกฝนโยคะที่เป็นกลุ่มในชื่อเดียวกันว่า Arunothai: Thailand Public Yoga Journal อยู่บนเครือข่ายออนไลน์เฟซบุ๊ค

หัวข้อหลักครั้งนี้เป็นการชักชวนผู้ที่ไปร่ำเรียนหลักสูตรครูโยคะที่อินเดียหรือเรียนโยคะระดับเข้มข้นนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ในเมืองต่างๆ เกือบจะทั่วประเทศขนาดอนุทวีป มาพูดคุยให้ฟังว่า ทำไมถึงได้ตัดสินใจไปเรียนโยคะที่อินเดีย ไปเรียนแล้วได้อะไร ที่อินเดียมีอะไรดี หรือมีอะไรที่ตรงกับความคาดหวังก่อนการเดินทางหรือไม่อย่างไร

กิจกรรม “อรุโณทัยเสวนา” ครั้งนี้จะจัดขึ้นในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคมนี้เวลา 14.00 -17.00 น. ที่ Soul Space Yoga Studio@ Art Gallery ของคุณปิ๋ม (คุณสุริชยา หัพนานนท์) ตรงสีลมซอย 19 และเปิดให้ทุกคนเข้าร่วมรับฟังพร้อมแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้ร่วมเสวนาคนอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยผู้ที่สนใจจะต้องติดต่อสำรองการเข้าร่วมงานมา (ตามรายละเอียดท้ายเรื่อง)

ผมเจตนาที่จะตั้งชื่อหัวข้อของการพูดคุยว่า “ศิษย์อินเดีย” ทั้งๆ ที่สำหรับหลายคนอินเดียเป็นเพียงประเทศประเทศหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วจากประสบการณ์ที่เคยเดินทางไปร่ำเรียนวิชาโยคะที่อาศรมแห่งหนึ่งทางอินเดียใต้มาเมื่อเกือบสามปีก่อน ผมพบว่าอินเดียอาจมิได้เป็นเพียงจุดหมายปลายทางหรือสถานที่ที่มีอาศรม มีสถาบันหรือโรงเรียนโยคะตั้งอยู่เท่านั้น แต่ธำรงบทบาทเป็นเหมือน “มหาคุรุ” เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ที่หยิบยื่นวิชาความรู้ บทเรียน จิตวิญญาณและอารยธรรมที่สั่งสมผ่านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่สืบเนื่องมานานนับพันๆ ปี ดังนี้แล้วเรา (หมายถึงคนที่เคยเดินทางผ่านไปศึกษาวิชาต่างๆ และโยคะถึงอินเดีย) จึงน่าจะเห็นพ้องต้องกันที่จะเรียกขานอินเดียว่าครู โดยเราเองก็เป็น “ศิษย์อินเดีย”

ทุกวันนี้นั้นมีสถาบันต่างๆ ทั้งแบบสตูดิโอโยคะหรือสถาบันโยคะหรือสถานออกกำลังกายแบบฟิตเนสที่เปิดสอนหลักสูตรโยคะระดับก้าวหน้าหรือหลักสูตรครูโยคะขึ้นมากมายในบ้านเรา การที่ใครสักคนใฝ่ฝันอยากจะเรียนโยคะให้ลึกขึ้นหรือเรียนเป็นครูโยคะ ก็สามารถหาสถานที่เรียนได้ในเมืองไทยอย่างไม่ยากเย็นอะไร แล้วมีเหตุผลกลใดหรือมีความจำเป็นอะไรที่ใครสักคนจะต้องขวนขวายเก็บเงิน สะสมเวล่ำเวลา และออกเดินทางไกลไปถึงถิ่นอินเดีย…เพียงเพื่อไปเรียนโยคะ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีคำถามเยี่ยงนี้ เป็นผู้ที่สนใจโยคะหรือคิดอยากไปเรียนโยคะที่อินเดีย ผมว่าเราลองมาทำความรู้จักและมานั่งลงร่วมวงสนทนา “อรุโณทัยเสวนา” กันดีไหมครับ…

  • สนใจเข้าร่วมกิจกรรม “อรุโณทัยเสวนา” ครั้งนี้ กรุณาแสดงความจำนงโดยแจ้งชื่อและเบอร์ติดต่อมาได้ที่อีเมลของผม ittiritp@gmail.com หรือยืนยันผ่านทาง Facebook กลุ่ม Arunothai (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าร่วมงาน)

Evolution: Asia Yoga Conference (1) ก่อนการเดินทาง…

ผมเพิ่งกลับจากฮ่องกงสดๆ ร้อนๆ เมื่อวานนี้เองก่อนการลงมือเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ เรื่องราวและเหตุผลเบื้องหลังการเดินทางก็คือสิ่งที่กำลังจะบอกเล่า…

            ช่วงเวลาต้นเดือนมิถุนายนของทุกปีในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมาที่ฮ่องกงมีการจัดงานประชุมหรือการรวมตัวกันของคนที่รักและสนใจในโยคะ ครูและนักเรียนโยคะ เจ้าของสตูดิโอโยคะและนักธุรกิจด้านต่างๆเช่น การทำเสื้อผ้าและผลิตเสื่อโยคะ ทั้งในฮ่องกงและประเทศต่างๆ ในเอเชีย อีกทั้งหลายประเทศจากทวีปอื่นๆ ที่บินไปรวมตัวกันที่นั่นในงานที่มีชื่อว่า “Evolution: Asia Yoga Conference” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า AYC (ครั้งล่าสุดที่จัดไปคือ 7-10 มิถุนายนที่ผ่านมา)

            ปีนี้ด้วยความลงตัวและจากการที่ผมเขียนคอลัมน์นี้ รวมทั้งผลิตสื่อโยคะออนไลน์ “อรุโณทัย” (กำลังเตรียมเปิดเว็บไซต์ http://www.arunothai.net) และรับผิดชอบข้อเขียนประจำในคอลัมน์ Community ให้กับนิตยสารโยคะเจอร์นัล ทำให้ผมลองเขียนไปติดต่อฝ่ายผู้จัดงาน AYC ที่ฮ่องกงดูว่ามีความเป็นได้ไหมที่จะเข้าร่วมงาน (และเข้าคลาสการฝึก) ด้วยในฐานะสื่อมวลชน

            ต้องขอขอบคุณคุณฟรานเชส เกร์นส์ (Frances Gairns) บรรณาธิการของวารสารนมัสการ (NAMASKAR) วารสารประชาสัมพันธ์แวดวงโยคะของฮ่องกงซึ่งเป็นคนแรกที่ผมสอบถามถึงความเป็นไปได้ จากนั้นเธอก็ช่วยส่งอีเมลของผมต่อไปให้ฝ่ายประสานงานสื่อมวลชนของฝ่ายผู้จัด ไม่ช้าไม่นานผมก็ได้รับอีเมลจากคุณมิเชล โชว (Michelle Chow) ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์งาน AYC ที่ตอบรับข้อเสนอเข้าร่วมงาน โดยผมเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ยกเว้นแต่ค่าบัตรเข้าร่วมงาน (บัตร 4 วันราคาหรือ Four-Day Pass สำหรับผู้ที่ไม่ได้จองก่อนล่วงหน้าจะประมาณสองหมื่นกว่าบาทหรือ 5,899 ดอลลาร์ฮ่องกง) เท่านั้นที่ผมไม่ต้องออกสตุ้งสตางค์เอง

            ผมไม่ลังเลที่เขียนไปขอบคุณและตอบตกลงเข้าร่วมงานปีนี้พร้อมกับประสานงานเพิ่มเติมเพื่อขอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับงานเอาไว้ จากนั้นก็จองเที่ยวบินและที่พัก ซึ่งเป็นโรงแรมที่ควรจะอยู่ไม่ไกลจากสถานที่จัดงานคือ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการฮ่องกง (Hong Kong Convention and Exhibition Centre- South Wing เฟสหนึ่ง/ Old wing) ในย่านหวั่นไจ๋ฝั่งเกาะฮ่องกงที่ใครก็ตามซึ่งเคยไปฮ่องกงแล้วคงพอจะรู้จักและจำสถานที่ริมอ่าววิคตอเรียนี้ได้

            รูปภาพ

ช่างโชคดีที่การเดินทางไปร่วมงาน Evolution ครั้งที่ 6 ครั้งนี้ ผมได้ร่วมเดินทางไปพร้อมกับคุณยุทธนา พลเจริญหรือ “ครูจิมมี่” แห่งฟิตโยคะ ซึ่งเป็นผู้ช่วยแนะนำโรงแรมที่พักให้ด้วย และยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง ทั้งในเรื่องราวของแวดวงโยคะ ครูโยคะระดับโลกที่เข้าร่วมงาน (ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยรู้จักหน้าตาและชื่อ) รวมทั้งมุมมองต่อการจัดงาน AYC ปีนี้ตลอดระยะเวลา 4-5 วันที่พบเจอกันในงานที่ฮ่องกง ด้วยความที่เข้าร่วมงานก่อนหน้านี้มาแล้วหลายต่อหลายปีแล้ว

            รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

แม้ครูจิมมี่จะตั้งข้อสังเกตว่างาน AYC ที่ฮ่องกงปีนี้จะค่อนข้างเงียบกว่าหรือไม่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานกันมากเมื่อเทียบกับงานในปีที่แล้วๆ มา เพราะระดับปรมาจารย์โยคะหรือ big names ทั้งหลายทั้งปวง เช่น เดวิด สเวนสัน (ครูด้านอัษฎางคะโยคะ) หรือชารอน แกนน่อนและเดวิด ไลฟ์ (ครูผู้ก่อตั้งชีวมุกติโยคะ) ไม่ได้มาร่วมงานปีนี้ด้วย แต่ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผมอยู่ดีเพราะเป็นการ “ไปดูงาน” และสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวงานโยคะระดับเอเชียหรือเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นงานโยคะระดับโลกครั้งแรก ซึ่งทำเอาผมต้องถึงกับเครียดในการเตรียมพร้อมและตลอดช่วงของการเข้าร่วมงานไม่น้อย ด้วยเกรงว่าจะไม่ได้อะไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งจะว่าไปแล้วการฝึกหรือเดินตามเส้นทางของโยคะไม่ได้บอกเราให้ทำเช่นนี้ แต่บอกว่าให้ Let it go ปล่อยวาง อยู่กับสติ อยู่กับปัจจุบัน ทำให้เต็มที่และทำให้ดีที่สุดเท่าที่เรายอมรับตัวเอง

            รายละเอียดจากการเข้าร่วมงานว่า ได้รับอะไรจากเข้าร่วมฝึกโยคะและร่วมกิจกรรมต่างๆ จะมีเรื่องราวเป็นเช่นไร คงต้องติดตามอ่าน “ชีพจรแห่งโยคะ” ตอนต่อไปนะครับ…นมัสเต

เวลาอันอเนกอนันต์ ณ มัยซอร์

            ประภาการ์หรือ “ประโภ” เพื่อนร่วมคลาสและเป็นเหมือนรูมเมทของผมที่อาศรมศิวนันทะที่เนยาร์แดม เมืองตรีวันดรัม อาจจะรู้สึกงงงวยเล็กน้อยว่าผมจะอยากไป “ที่นั่น” ทำไม ขณะที่มีเวลาสั้นๆ เพียงเท่านี้ แม้จะไม่ได้พูดออกมา (ให้ผมเสียน้ำใจ) แต่ผมคิดว่าในใจเขาคงจะพูดว่า “ใครๆ เขาก็ไป ‘มัยซอร์’ กันเป็นเดือนๆ ด้วยกันทั้งนั้น”

ช่างโชคร้ายในความโชคดีที่หลังจากจบการเรียนหลักสูตรครูโยคะที่เนยาร์แดมเสร็จแล้ว ผมบังเกิดความรู้สึกกำเริบเสิบสานขึ้นมาว่า อย่างไรเสียก่อนกลับบ้านก็อยากจะไปให้ถึง “มัยซอร์” (Mysore) ให้จงได้ เพราะไหนๆ ก็ลงทุนลงแรงเดินทางมาถึงถิ่นอินเดียแล้ว เดินทางต่อไปอีกหน่อยจะเป็นไร จะได้ไม่ต้องเสียเที่ยว ตีตั๋วเครื่องบินกลับมาอีกเวลาที่นึกขึ้นมาว่า อยากจะไปเห็น (และเที่ยว) มัยซอร์

เวลาในตอนนั้นที่ผมมีคือประมาณสิบวันและได้ “ประภาการ์” นั่นเองเป็นคนแนะนำและช่วยติดต่อหาที่ฝึกโยคะในเมืองมัยซอร์ให้…ใช่แล้วครับ ใครๆ ที่นึกถึงมัยซอร์ก็มักจะนึกถึงการไปเพื่อไปฝึกโยคะที่เมืองนี้กันทั้งนั้น

“ประโภ” แนะนำผมว่าน่าจะไปฝึกมัยซอร์กับครูโยคะที่เขารู้จักคนหนึ่งชื่อ “อะเจย์” (Ajay Kumar) ซึ่งเขาจะเป็นคนติดต่อสอบถามให้ผมก่อนว่าพอจะมีที่ว่างให้นักเรียนนอกคอกผู้มีเวลาน้อยแค่ไม่ถึงครึ่งเดือน ขอเข้าไปฝึกด้วยที่ “ศาลา” (Shala) ของครูอะเจย์ด้วยจะได้หรือไม่

หลังจากประโภติดต่อให้ไปแล้วเขาก็บอกว่าอย่างไรเสียผมก็น่าจะได้โทรไปพูดคุยกับครูเองเผื่อจะสอบถามอะไรหรือได้รู้คำตอบด้วยตัวเองว่า จะพอแทรกตัวเข้าไปฝึกในศาลาของครูอะเจย์ได้หรือไม่ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมจะต้องไปเฝ้าวนเวียนแถวบู้ทโทรศัพท์ของอาศรมที่เนยาร์แดมในทุกขณะที่มีเวลาว่างจากการเรียน การฝึกและทำกิจกรรมให้อาศรม (กรรมโยคะ) และต้องฝ่าฟันกับแถวต่อคิวยาวเหยียดของผู้คนในอาศรมที่กระหายการติดต่อกับโลกภายนอก

“นายมาเรียนได้ ถ้าหากว่ายอมที่จะเข้าฝึกในคลาสตอนตีห้า ตกลงไหม” ปลายทางของสายโทรศัพท์ที่มัยซอร์คือน้ำเสียงของ “อะเจย์” ที่ผมได้ยินเป็นครั้งแรก แต่ยังคาดเดาไม่ออกว่าเขาจะเป็นชายในวัยใด ได้แต่นึกไปก่อนว่า จากการที่ทั้งประโภและนิเลศ (เพื่อนชาวอินเดียที่อาศรมฯ ซึ่งรู้จักอะเจย์ ทั้งยังเคยไปช่วยอะเจย์สอน) เป็นผู้แนะนำผม บอกว่าอะเจย์เป็นครูอัษฎางคะโยคะสไตล์มัยซอรที่ได้รับการยอมรับที่สุดคนหนึ่งตอนนี้ ผมเองก็คิดว่าเขาเองน่าจะมีอาวุโสมากไม่น้อย

ต้นเดือนที่สองของปี 2553 ผมลากกระเป๋าแบกเป้หลังใบเขื่อง นั่งรถไฟตอนกลางคืนเพื่อจะไปถึงรุ่งเช้าที่เมืองบังกาลอร์ (ชื่อใหม่อย่างเป็นทางการตอนนี้คือเมือง Bengaluru) เมืองใหญ่ที่ใกล้ที่สุดกับมัยซอร์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 140 กิโลเมตร และผมก็จับรถไฟ Chamundi Express เที่ยวแรกในตอนเช้าวันนั้นแบกเป้หลังย่อมๆ อีกใบหนึ่ง (ที่เหลือผมเช่าล็อกเกอร์เก็บกระเป๋าเอาไว้ที่สถานีรถไฟบังกาลอร์นั่นเอง) ใช้เวลาเดินทางแค่ชั่วนั่งเพลินๆ ไม่กี่ชั่วโมงด้วยบริการรถไฟตู้นั่งปรับอากาศแสนสบาย ผมก็มาถึงมัยซอร์เอาเมื่อต้นๆ บ่ายของวันเดียวกัน จัดการเรียกรถออโต้ริกชอว์หรือรถตุ๊กตุ๊กของอินเดีย มุ่งตรงดิ่งไปยัง “ศาลาแปด” (Sthalam8) ของอะเจย์ในบัดดลเพื่อรายงานตัวกับครูก่อนว่า แม้จะมีเวลาน้อยในการมาขอเข้าฝึก แต่ผมก็ไม่ได้เบี้ยว (นะคร้าบ)

ถึงจะหง่อมและกรำจากการเดินทางรอนแรมหลายต่อ จากตรีวันดรัมมาเมืองโคชิน จากโคชินมาบังกาลอร์ แล้วค่อยต่อรถมาถึงมัยซอร์ในที่สุด แต่สัมผัสแรกของผมที่ได้เห็นเมืองนี้ก็รู้สึกดีทีเดียวและรู้สึกได้ถึงความร่มรื่น ไม่พลุกพล่านและน่าใช้เวลาดีทีเดียว

พอไปถึงและได้พูดคุยกันสักครู่ ผมถึงได้พบว่าครูอะเจย์ในตอนนั้นเป็นแค่เด็กหนุ่มท้องถิ่นอายุอานามประมาณ 24 ปีเท่านั้นเอง ถึงแม้จะยังดูเด็กแต่เขาก็มีรังสีออร่าน่าเชื่อถือ เขาได้บอกให้คนที่ศาลาพาผมไปเช็คอินในโรงแรมที่อยู่ไม่ห่างจากที่ฝึก แค่เพียงสองกิโลเมตรเท่านั้น เหมาะสำหรับการเดินเท้าออกมาฝึกมัยซอร์ในคลาสกับอะเจย์ตอนตีห้าได้ (แน่ล่ะว่าผมจะต้องตื่นและก้าวเท้าออกจากโรงแรมที่พักก่อนเวลาตีห้า!) และบอกว่าพรุ่งนี้เช้าค่อยมาเจอกัน

ศาลาแปดของอะเจย์นั้นอยู่ไม่ห่างจากใจกลางเมืองของมัยซอร์เท่าไรนัก แต่ก็ขยับไกลออกไปจากโรงแรมที่ผมพักซึ่งอยู่ใกล้ “พระราชวังของมหาราชามัยซอร์” (Mysore Palace) ที่เที่ยวอันดับต้นๆ และตลาดร้านรวงต่างๆ โดยเฉพาะตลาดหลักที่มีชื่อว่า “เทวราชา” (Devaraja) ซึ่งเป็นตลาดสดและขายสินค้าขนาดใหญ่ที่มีสีสันมาก ก็อยู่ห่างจากที่พักออกไปแค่ระยะทางเดินเล่นไม่เกินหนึ่งหรือสองกิโลเมตรเท่านั้น

รุ่งเช้าอีกวันผมออกเดินจากที่พักตอนตีสี่ครึ่ง เมืองทั้งเมืองยังเงียบสงัดแต่ไม่ค่อยวังเวงเท่าไรนัก อากาศยังคงเย็นเพราะเป็นฤดูกาลช่วงต้นปีอยู่ แต่เมื่อฝึกมัยซอร์เสร็จตอนประมาณเจ็ดโมงเช้าร่างกายกลับแข็งแรงขึ้นและมีพลังอย่างประหลาด ตอนนั้นผมแอบนึกเสียดายว่าตัวเองจะมีเวลาฝึกโยคะที่เมืองนี้ไม่กี่วัน เมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนคนอื่นๆ ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์เป็นฝรั่งผมทองทั้งชายและหญิง มีชาวเอเชียจากญี่ปุ่นบ้าง ไต้หวันบ้าง…และมีคนไทยคือผมเพียงคนเดียว

สำหรับคนที่มีพื้นฐานในการฝึกโยคะสไตล์ Ashtanga มาบ้างคงจะพอคุ้นเคย เคยได้ยินหรือเคยฝึก Mysore Yoga มาบ้าง ซึ่งจากประสบการณ์ในการฝึกมัยซอร์ของผมที่เมืองไทยและจากอินเดีย (ก็ที่มัยซอร์นั่นแหละครับ) ผมขอเล่าคร่าวๆ ถึงโยคะรูปแบบนี้ให้ฟัง

มัยซอร์โยคะ (Mysore Yoga) มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและเกี่ยวพันกับคุรุโยคะยุคใหม่ของอินเดียที่ล่วงลับไปแล้วสองท่านคือ ท่านกฤษณมาจารย์ (Sri Tirumalai Krishnamacharya) และท่านศรีภัตตาปิ โชอิส (Sri K Pattabhi Jois Ashtanga Yoga Institute ที่เมืองมัยซอร์) ท่านกฤษณมาจารย์เป็นครูของท่านศรีปัตตาภิ โชอิส และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนโยคะขึ้นในวังมหาราชามัยซอร์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองในรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) เมืองนี้มีภาษาประจำรัฐหรือภาษาถิ่นของตัวเองเช่นเดียวกับหลายๆ รัฐของอินเดีย คือภาษากันนาดา

แต่มัยซอร์โยคะเป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วโลกจากการสืบสานหฐโยคะในแบบอัษฎางคโยคะของท่านปัตตาภิ โชอิสต่อมาจากครูของท่านและทำให้เกิดความสนใจของผู้ฝึกโยคะจากทั่วโลก ให้เดินทางมาสู่เมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของอินเดียแห่งนี้เพื่อให้ได้ชื่อว่า “ได้มาฝึกมัยซอร์กับคุรุจี” แล้ว

โยคะสไตล์มัยซอร์คือโยคะแบบอัษฎางคะโยคะอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู่ฝึกทุกคนจะต้องฝึกโดยการนับลมหายใจในแต่ละท่าอาสนะด้วยตัวเอง และปฏิบัติอาสนะไล่เรียงไปในซีรีส์ที่ฝึกด้วยตนเอง โดยที่ครูผู้สอนจะไม่ได้ทำหน้าที่ “สอน” โดยการบอกวิธีการฝึกหรือการเข้าสู่อาสนะ แต่ครูจะทำหน้าที่คอยดูแล ช่วยเหลือ และช่วยปรับจัดท่าของผู้ฝึกแต่ละคนเพื่อให้เข้าสู่อาสนะได้ลึกขึ้นหรือทำได้ถูกต้องยิ่งขึ้น เสน่ห์ที่ทำให้มัยซอร์โยคะเป็นที่นิยมฝึกนั้นผมเองคิดว่าเป็นเรื่องของผลจากสมาธิที่ได้จากการฝึก จากการจดจ่อในท่าอาสนะที่ตัวเองจะต้องทำ และการนับลมหายใจขณะอยู่ในท่านั้นๆ ด้วยตนเอง

ในห้องฝึกมัยซอร์โยคะที่ผมฝึกที่ “ศาลาแปด” ของครูอะเจย์เองนั้นเป็นบ้านสไตล์อินเดียประยุกต์ในลักษณะบ้านเดี่ยวสองชั้น ชั้นบนเป็นห้องฝึกที่ไม่กว้างนัก (ถึงกระนั้นพวกเราก็ยังแออัดยัดทะนานกันเข้าไปฝึกได้รอบละเกือบ 20 คน!) มีพื้นที่โล่งเอาไว้ให้นั่งเล่น พูดคุยกัน กินขนม อ่านหนังสือหรือสั่งเครื่องดื่มพวกจัย (ชาอินเดีย) มาจิบได้เมื่อฝึกเสร็จแล้ว

เวลาอันอเนกอนันต์ที่มัยซอร์ของผมนั้น เกิดขึ้นจากเมื่อฝึกโยคะจากการดุ่มเดินออกจากโรงแรมตอนตีสี่นิดๆ เข้าสู่ห้องฝึกสองชั่วโมงโดยประมาณตอนตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า เมื่อฝึกเสร็จก็จะค่อยๆ เดินเตร็ดเตร่แวะซื้อโยเกิร์ตสด (ราคาถูกมากเพราะที่อินเดียนิยมกินโยเกิร์ตจากนมวัวและนมกระบือเป็นหนึ่งในมื้ออาหารของพวกเขา) และแวะจิบชาถ้วยเล็กๆ สนนราคาเพียงแก้วละ 3 รูปี ก่อนจะเดินกลับไปพักเอาแรงที่ห้อง พอสายๆ ค่อยย่างกรายออกไปเดินเที่ยวในเมืองและไปชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในเมืองมัยซอร์ ไม่ว่าจะเป็นตลาดสดที่เปี่ยมด้วยสีสันของข้าวของ ดอกไม้ ผลไม้ กระทั่งผู้คนท้องถิ่นจำนวนมากที่มาซื้อหาข้าวของที่ตลาดเทวราชากันทั้งวี่วัน หรือไม่ก็ไปเที่ยวชมพระราชวังมัยซอร์ที่ยังคงยิ่งใหญ่และงดงามน่าสัมผัส แต่ส่วนมากแล้วผมมักจะวนเวียนอยู่ตามร้านกาแฟร่วมสมัยยี่ห้อท้องถิ่นของอินเดียเอง ไม่ว่าจะเป็นร้าน Café Coffee Day หรือ Barista ในตัวเมืองเสียมากกว่า

แม้ไม่สามารถจะติดต่อเพื่อเข้าฝึกที่สถาบันมัยซอร์โยคะของคุรุจีปัตตาภิ โชอิสก็ตาม ผมเองก็ถือโอกาสไปเยี่ยมชมบรรยากาศแถวๆ ย่านที่ตั้งของศาลาโยคะของท่านซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองออกไปหลายกิโลเมตร ย่านนั้นเรียกว่าย่าน Gokulam มีบรรยากาศสบายๆ เต็มไปด้วยบ้านพักอาศัยที่ไม่แออัด ส่วนศาลาของคุรุจีนั้นก็ดูยิ่งใหญ่และมีขนาดใหญ่กว่าศาลาที่ผมฝึกอยู่ด้วยมากทีเดียว

นอกจากการเดินเล่นในเมือง แวะชมตลาดซื้อผลไม้หรือหาขนมหวานท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อระดับประเทศขนานแท้ของมัยซอร์กินเล่น ไปชมวังทั้งในตอนกลางวันและตอนกลางคืนที่มีการประดับแสงไฟสวยงาม ผมยังชอบที่จะนั่งรถประจำทางออกไปที่ภูเขาลูกหนึ่งที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของที่นี่ เรียกว่า Chamundi Hills รถเมล์ท้องถิ่นจะค่อยๆ แล่นพาเราออกนอกเมืองไปทางทิศตะวันออก วนเวียนไต่เขาขึ้นไปด้วยระยะทาง 12 กิโลเมตร ซึ่งพอไปถึงบนยอดเขาที่ไม่สูงมากเท่าไรนักก็ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมากไปกว่าการไปไหว้พระในวัดฮินดูและการเดินเล่น หรือไม่ก็นั่งลงชมวิวของตัวเมืองที่มองเห็นอยู่วิบๆ จากนั้นก็ค่อยนั่งรถกลับลงมา เตรียมตัวพักเพื่อที่จะตื่นแต่เช้า เดินเข้าห้องฝึกโยคะอีกครั้งตอนเช้ามืด เป็นเช่นนี้ตลอดช่วงเวลาซึ่งอยู่ที่นั่นจนดูเหมือนว่าระยะเวลา 24 ชั่วโมงในหนึ่งวันที่มัยซอร์ได้ถูกดึงยืดขยายออก…ให้นานขึ้น…เป็นเวลาอเนกอนันต์ที่ไม่รู้กาลจบลง